ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 และการปรองดอง ของ สงครามดอกกุหลาบ

หอระฆังของโบสถ์เซนต์ออลบันส์ (คริสต์ศตวรรษที่ 15)

ดยุกแห่งยอร์กทรงนำกองกำลังย่อยไปยังลอนดอนและไปประจันหน้ากับกองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่หมู่บ้านเซนต์อัลบันทางตอนเหนือของลอนดอนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1455 ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใหญ่นักเป็นการเปิดฉากสงครามกลางเมือง จุดประสงค์ของริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์คก็เพื่อกำจัด “ที่ปรึกษาผู้ไร้สมรรถภาพ” ของพระเจ้าเฮนรี ผลของยุทธการฝ่ายแลงคาสเตอร์ของพระเจ้าเฮนรีได้รับความพ่ายแพ้ ผู้นำฝ่ายแลงคาสเตอร์คนสำคัญหลายคนที่รวมทั้งดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและเอิร์ลแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์เสียชีวิตในสนามรบ เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้วฝ่ายยอร์กก็พบพระเจ้าเฮนรีประทับซึมอยู่พระองค์เดียวในเตนต์ขณะที่ข้าราชสำนักและมหาดเล็กต่างก็ละทิ้งพระองค์ เพราะมีพระอาการเสียพระสติอีกครั้ง (และทรงได้รับความบาดเจ็บจากธนูเล็กน้อยที่พระศอ)[3] ฝ่ายยอร์กและพันธมิตรจึงเป็นฝ่ายที่มีอำนาจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อโค่นอำนาจของพระเจ้าเฮนรีได้แล้วยอร์กก็ตั้งตนเป็น “ผู้อารักขา” (Protector) พระนางมาร์กาเรตแห่งอ็องฌูทรงถูกกีดกันให้เป็นดูแลพระเจ้าเฮนรี

ในระยะแรกทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกตะลึงต่อการมีการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจริง ๆ และต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาทางปรองดองกัน แต่ในที่สุดสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ระหว่างดยุกแห่งยอร์คและพระเจ้าเฮนรีและเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรี มาร์กาเร็ตไม่ทรงยอมรับข้อตกลงใด ๆ ที่จะเป็นการยกเลิกสิทธิของเอ็ดเวิร์ดจากราชบัลลังก์ และเป็นที่เห็นชัดได้ว่าจะไม่ทรงยอมตราบใดที่ดยุกแห่งยอร์กและฝักฝ่ายของพระองค์ยังคงมีอำนาจทางทหารอยู่

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1456 พระเจ้าเฮนรีก็มีพระอาการดีขึ้นและทรงสามารถกลับมาทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งทำให้ดยุกแห่งยอร์กไม่ต้องมีหน้าที่เป็น “ผู้อารักขา” อีกต่อไป[4] ในฤดูใบไม้ร่วงในปีเดียวกันพระเจ้าเฮนรีก็เสด็จประพาสบริเวณมิดแลนด์ซึ่งเป็นบริเวณที่พระองค์ทรงเป็นที่นิยม มาร์กาเร็ตไม่ทรงยอมให้พระเจ้าเฮนรีเสด็จกลับลอนดอนที่พ่อค้าในเมืองต่างก็มีความไม่พึงพอใจต่อความเสื่อมโทรมทางการค้าและบ้านเมืองที่ขาดระบบ พระองค์จึงทรงตั้งราชสำนักขึ้นที่โคเวนทรี ขณะนั้นดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทก็กลายมาเป็นคนโปรด ขณะเดียวกันมาร์กาเร็ตก็ทรงหว่านล้อมให้เฮนรีปลดข้าราชสำนักต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อดยุกแห่งยอร์กเป็น “ผู้อารักขา” ออก ขณะที่ดยุกถูกเรียกตัวให้กลับไปเป็นข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์

ความระส่ำระสายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็รวมทั้งความวุ่นวายในเมืองหลวง การต่อสู้ทางตอนเหนือของอังกฤษระหว่างตระกูลเนวิลล์และตระกูลเพอร์ซีย์ที่เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[5]) นอกจากนั้นทางด้านใต้ของประเทศการถูกโจมตีโดยโจรสลัดก็เพิ่มมากขึ้น แต่พระเจ้าเฮนรีและพระนางมาร์กาเร็ตก็มัวแต่ทรงพะวงกับการรักษาตำแหน่งของพระองค์ โดยมาร์กาเร็ตทรงเริ่มใช้การเกณฑ์ทหารขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษ ขณะที่พันธมิตรของฝ่ายยอร์คเอิร์ลแห่งวอริก หรือที่ต่อมารู้จักกันในนามว่า “ผู้สร้างกษัตริย์” ก็เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในกรุงลอนดอนในฐานะผู้สนับสนุนผลประโยชน์ของพ่อค้า

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1458 ทอมัส บูเชียร์อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีพยายามหาทางให้ทั้งสองฝ่ายหันกลับมาปรองดองกัน ขุนนางต่าง ๆ ก็เดินทางมายังลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาครั้งใหญ่ อาร์ชบิชอปเจรจาข้อตกลงอันซับซ้อนเพื่อพยายามเลี่ยงการนองเลือดเช่นที่เกิดขึ้นในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 หลังจากที่การประชุมจบลง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1458 พระเจ้าเฮนรีก็เสด็จนำขบวนไปยังมหาวิหารเซนต์พอลตามด้วยขุนนางทั้งฝ่ายแลงแคสเตอร์และยอร์กประสานมือกัน[5] แต่ทันทีที่จบการเดินทั้งสองฝ่ายก็แยกกันวางแผนหาทางกำจัดอำนาจของกันและกันอีก

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม